วิธีกินอาหารด้วยมารยาทแบบจีน

คำพูดที่ว่า “เข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม” ดูเหมือนจะเป็นประโยชน์สุดๆในตอนที่เราต้องไปต่างบ้านต่างเมือง หรือแม้แต่การรับประทานอาหารกับเพื่อนร่วมโต๊ะที่มีวัฒนธรรมแตกต่างจากเรา โดยเฉพาะกับชาวจีน (รวมถึงชาวไทยเชื้อสายจีน) ที่มีประวัติศาสตร์การกินและอาหารมาอย่างช้านาน ดังนั้นมารยาทการกินแบบจีนจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ควรรู้ไว้ เช่นเดียวกับวิธีการกินซูชิที่ถูกต้องของญี่ปุ่น ดังนั้นถ้าใครนึกจะจีบสาวหรือหนุ่มชาวจีนแล้วล่ะก็อย่าทำขายหน้าผู้ใหญ่ในโต๊ะอาหารเชียว นอกจากนี้เรายังแนะนำให้เรียกญาติชาวจีนให้ถูกในโต๊ะอาหารด้วย




 

  1. ในฐานะแขกผู้มาเยือน ไม่ควรรับประทานหรือดื่มเครื่องดื่มก่อนเจ้าบ้านเด็ดขาด

ธรรมเนียมนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นธรรมเนียมนิยมก็ว่าได้ที่ เจ้าภาพหรือเจ้าบ้านจะเป็นผู้เริ่มต้นในการลงมือรับประทานอาหารมื้อนั้นๆ ตามธรรมเนียมของชาวจีนเจ้าบ้านจะเริ่มต้นด้วยการเสิร์ฟอาหารแก่หัวหน้าแขกที่มาเยือนรวมถึงแขกที่นั่งใกล้ๆอีก 1 หรือ 2 คน จากนั้นก็จะกล่าวเชิญให้แขกเริ่มรับประทานอาหารได้ ในตอนนี้เองที่เราจะได้รับอนุญาตให้สามารถตักอาหารได้ แต่! ต้องไม่ลืมถามเพื่อนร่วมโต๊ะก่อนจะตักอาหารมาวางบนจานตัวเอง

  1. ชิมอาหารให้ครบทุกอย่างที่อยู่บนโต๊ะ

ตามธรรมเนียมจีนถือว่าเป็นเรื่องที่เสียมารยาทมากหากเราจะไม่แตะต้องอาหารจานใดจานหนึ่งเลย เพราะเจ้าภาพจะมองมาที่คุณเพื่อเฝ้าดูปฎิกิริยาที่มีต่ออาหารบนโต๊ะ  ดังนั้นการลองชิมอาหารทุกอย่างจึงเป็นการให้เกียรติอย่างหนึ่ง แม้ว่าอาหารที่ว่านั้นจะเป็นแมงป่องทอดขึ้นชื่อหรือซุปงูก็ตาม

  1. ถามเพื่อนร่วมโต๊ะก่อนตักอาหารหรือเติมน้ำให้ตัวเองเสมอ

เพราะไม่อย่างนั้นคุณอาจถูกมองว่าเป็นพวกตะกละตะกลามที่ไร้มารยาทเอาได้  หากเอาแต่ตักอาหารหรือรินน้ำให้ตัวเองก่อน อย่างไรก็ตามหากคุณต้องการรินน้ำชาเพิ่มแต่เพื่อนร่วมโต๊ะติดการพูดคุยกันอยู่ เราขอแนะนำให้คุณรินน้ำชาให้อีกฝ่ายได้เลยโดยไม่จำเป็นต้องเข้าไปถามเพื่อขัดการพูดคุยนั้น เพื่อนร่วมโต๊ะจะเห็นการกระทำอันมีน้ำใจนั้นและอาจแสดงออกแทนคำขอบคุณด้วยการพยักหน้าหรือใช้นิ้วชี้และนิ้วกลางเคาะโต๊ะเบาๆ

  1. ไม่ควรยกจานอาหารที่วางอยู่บนโต๊ะหรือยกจานอาหารส่งต่อให้คนอื่น

แม้ว่าอาหารจานนั้นจะอยู่ไกลออกไปอีกฝั่งของโต๊ะ สิ่งที่ควรทำคือ หากเราต้องการเอื้อมไปตักอาหารจานนั้น ควรเก็บปลายตะเกียบหรือปลายช้อนขณะยื่นมือออกไปแล้วค่อยใช้ตักหรือคีบเมื่อถึงจานนั้น ในปัจจุบันโต๊ะรับประทานแบบจีนจึงมีการออกแบบแบบหมุนขึ้นมา

  1. กินจนเกลี้ยงจานถือเป็นการดูถูกเจ้าบ้าน

เพราะมันอาจถูกแปลความหมายไปว่าเขา/เธอเสิร์ฟอาหารให้น้อยเกินไป ไม่เพียงพอต่อความต้องการของแขกโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากนั้นเป็นจานที่สอง แต่ในขณะเดียวกันการเหลืออาหารไว้ในจานเยอะเกินไปก็ถือว่าไม่สุภาพเช่นกัน ดังนั้นควรเหลืออาหารเพียงน้อยไว้ในจานเมื่อรู้สึกอิ่ม เพราะจะเป็นการบอกนัยๆว่าเราไม่ต้องการเติมอาหารแล้วและอาหารนั้นอร่อยมาก

  1. ไม่ควรเป็นคนตักอาหารชิ้นสุดท้ายในจานนั้นๆเด็ดขาด

ชาวจีนมองว่าเป็นเรื่องโชคร้ายและยังมองอีกว่าคนที่ตักชิ้นสุดท้ายเป็นคนตะกละและหิวตลอดเวลา เพราะหน้าที่ของเจ้าบ้านจะคอยตรวจสอบอาหารทุกจาน และเมื่อจานใดเหลือชิ้นสุดท้ายเจ้าภาพจะเป็นผู้เสนอให้แขกตักชิ้นนั้นก่อนจะนำไปเก็บ

  1. อย่าวางตะเกียบไว้บนถ้วย

หรือทิ้งไว้ในถ้วยเมื่อทานเสร็จ เพราะถือว่าไม่สุภาพและเป็นเรื่องของโชคร้าย แต่ควรวางไว้บนที่วางตะเกียบ นอกจากนี้การทำตะเกียบตกก็ถือว่าเป็นโชคร้ายเช่นกัน อีกสิ่งที่ไม่ควรทำและถือว่าไม่สุภาพคือการปักตะเกียบไว้บนข้าว เพราะถือว่าตะเกียบถูกใช้ประกอบพิธีกรรมต่างๆ นั้นเอง

  1. การเจรจาธุรกิจจะไม่ทำบนโต๊ะอาหาร

โดยทั่วไปบนโต๊ะอาหารตามธรรมเนียมจีน เรื่องที่พูดคุยกันจะเป็นเรื่องที่สบายๆ เช่น ศิลปะแบบจีน อาหาร สุขภาพของคนในครอบครัวและการถามไถ่สารทุกข์สุขดิบ มากกว่าที่จะพูดคุยกันเรื่องการเมืองหรือศาสนา

  1. การยกแก้วร่วมยินดีควรใช้สองมือเพื่อแสดงความเคารพ

ตามธรรมเนียมจีนการยกแก้วร่วมยินดีอาจเกิดขึ้นทั้งโต๊ะหรือกับแขกคนใดคนหนึ่งบนโต๊ะ การยกแก้วควรใช้ทั้งสองมือเพื่อเป็นการแสดงความเคารพและควรดื่มให้หมดแก้ว หากใช้มือเดียวควรเป็นมือข้างขวา ควรมองตาผู้ร่วมแสดงความยินดีและธรรมเนียมจีนไม่มีการชนแก้ว

  1. การเสิร์ฟผลไม้ถือเป็นการปิดท้ายการรับประทานอาหาร

ตามปกติแขกมักจะอยู่ต่อไม่นานหลังจากรับประทานอาหารเสร็จ และอาจอยู่ต่ออีกสักเล็กน้อยเพื่อรับประทานผลไม้ปิดท้าย
(adsbygoogle = window.adsbygoogle || []).push({});

ที่มา  https://goo.gl/ctkeVa

Leave a Reply