นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้คนทั้งโลกต้องปรับแผนรับมือกันจ้าละหวั่น ทั้งบริษัทใหญ่ บริษัทเล็ก ทุกธุรกิจเจอผลกระทบเหมือนกันหมด
เมื่อเวลาผ่านไป การรับมือกับโรคระบาดเริ่มทำได้ดีขึ้น โดยเฉพาะการผลิตวัคซีนออกมาต้านเชื้อไม่ให้เกิดโรคระบาดระลอกใหม่
ที่น่าสนใจ บริษัทเทคโนโลยี โดยเฉพาะบริษัทเทคโนโลยีที่อยู่ในสหรัฐอเมริกา ต่างก็มีมาตรการ แนวทาง การสร้างเครื่องมือใหม่ๆ ไม่เว้นแม้แต่การออกแคมเปญด้านการตลาด เพื่อสอดรับกับการจัดการในยุคโควิด-19 ครองโลก
กูเกิลต่อยอดด้วยเครื่องมือที่มีอยู่
กูเกิล เป็นบริษัทเทคโนโลยีที่มีเครื่องไม้เครื่องมืออยู่ในมือเยอะมาก ไล่ตั้งแต่สิ่งที่เราใช้งานกันทุกวันอย่างเสิร์ชเอนจิน (Search Engine) บริการแผนที่ (Google Maps) ไปจนถึงบริการที่ไม่ได้มีให้บริการในประเทศไทย แต่ในสหรัฐอเมริกาเปิดบริการให้ใช้งานมานานแล้วอย่าง Google Pay บริการชำระเงินของกูเกิล
กูเกิลได้นำสิ่งเหล่านี้มาต่อยอดได้อย่างน่าสนใจ โดยบริการอย่าง Google Pay กูเกิลได้สร้าง API โดยจะทำหน้าที่เก็บเอกสารรับรองการฉีดวัคซีน นอกเหนือไปจากใช้สะสมแต้ม หรือเป็นบอร์ดดิงพาส ทำให้เอกสารที่จำเป็นเช่นนี้ ได้ถูกจัดเก็บในรูปแบบของไฟล์ดิจิทัล ใช้งานได้ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ อีกทั้งกูเกิลยังให้คำมั่นสัญญาด้วยว่า จะไม่มีการแชร์ข้อมูลใดๆ ของ COVID card ไปยังบุคคลที่สามอีกด้วย
ในส่วนของเสิร์ชเอนจิน กูเกิลก็ได้พัฒนาความสามารถพิเศษเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากพิษภัยของโควิด-19 ด้วยการเปิดตัวเครื่องมือค้นหาศูนย์หรือสถานที่แจกจ่ายอาหารฟรี one-stop shop ที่อยู่ใกล้ตัวที่สุด เพื่อให้ทุกคนได้เข้าถึงสิ่งจำเป็นอย่างอาหาร ชนิดที่ต้องไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
ทั้งนี้ โครงการบริการค้นหาศูนย์หรือสถานที่แจกจ่ายอาหาร กูเกิลได้ร่วมมือกับองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรอย่าง No Kid Hungry, FoodFinder และกระทรวงเกษตรของสหรัฐ โดยรวบรวมสถานที่แจกจ่ายอาหารจำนวน 9 หมื่นแห่งจาก 50 รัฐทั่วสหรัฐอเมริกา เพราะอันที่จริงแล้วภัยความมั่นคง “ในโลกยุคใหม่” ไม่ได้มีแค่ศัตรูคู่อาฆาตแต่ชาติปางก่อน แต่ศัตรูและภัยความมั่นคงที่แท้จริงมาจากสภาวะของโรคระบาดที่ทุกคนกำลังเผชิญในเวลานี้ ไปจนถึงความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งก็เป็นเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน
รายงานของ Feeding America ได้เผยตัวเลขที่น่าสนใจออกมาว่า ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ประชากร 45 ล้านคน คิดเป็น 1 ใน 7 ของชาวอเมริกัน ประสบปัญหาขาดการเข้าถึงอาหารที่ดี สม่ำเสมอ และเพียงพอต่อชีวิต และที่น่าตกใจไปกว่านั้น จากจำนวน 45 ล้านคน มีประชากรเด็กมากถึง 15 ล้านคน ที่ไม่สามารถเข้าถึงอาหาร นั่นหมายความว่า เด็กๆ กลุ่มนี้ จะไม่ได้รับโภชนาการที่จำเป็นต่อพัฒนาการของร่างกาย
เงินกินเปล่า ใครๆ ก็อยากได้
เรื่องหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ นั่นคือ ผู้คนในสหรัฐอเมริกา จำนวนไม่น้อยเป็นกลุ่มคนที่ต่อต้านการฉีดวัคซีน หรือ Anti-vaxxer ซึ่งคนที่ต่อต้านส่วนใหญ่จะมีเหตุผลที่เชื่อว่า การฉีดวัคซีนทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยต่อร่างกาย เป็นการนำมนุษย์แทนหนูลองยา เป็นต้น
ประเด็นข้างต้นจึงทำให้บริษัทในเทคโนโลยี ออกแคมเปญกระตุ้นให้คนออกไปฉีดวัคซีน ยกตัวอย่างเช่น แอมะซอน (Amazon) และแอปเปิล (Apple)
แอมะซอน ประกาศทำความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขท้องถิ่น และหน่วยงานของรัฐมิซูรี, เนวาดา และแคนซัส ในการฉีดวัคซีนให้กับคนงานของแอมะซอน ทั้งในส่วนเจ้าหน้าที่ด่านหน้า เจ้าหน้าที่คลังสินค้า เจ้าหน้าที่ร้านค้า Whole Foods Market เป็นต้น เพื่อให้เกิดความปลอดภัยขององค์กรในภาพรวม ลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการกับแอมะซอน รวมถึงชุมชนใกล้เคียง
อย่างไรก็ดี มีกรณีที่พนักงานไม่สะดวกที่จะเข้าไปฉีดวัคซีนตามคลินิกได้ทันที แอมะซอน จึงเสนอเงิน 80 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2,700 บาท) ให้กับพนักงานที่ต้องไปฉีดวัคซีนนอกสถานที่ เป็นแรงจูงใจให้พนักงานออกไปฉีดวัคซีน
แม้ว่าแอมะซอนจะไม่ได้พูดอย่างชัดเจนว่า การออกนโยบายให้เงินพิเศษแก่คนที่จะไปฉีดวัคซีนเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์การต่อต้านวัคซีน แต่ด้วยนโยบายนี้ ก็ถือเป็นนโยบายที่สร้างแรงจูงใจที่ดีให้ผู้คนออกไปฉีดวัคซีนมากขึ้น
ขณะที่แอปเปิล ก็ได้มีการออกมาตรการกระตุ้นให้พนักงานออกไปฉีดวัคซีน โดยสัญญาว่าพนักงานจะได้เงินนอกเวลาสำหรับการนัดหมายเพื่อไปฉีดวัคซีน
พร้อมกันนี้ ถ้าหากพนักงานได้รับผลข้างเคียงจากวัคซีน ทางแอปเปิลจะเป็นผู้จ่ายค่าดูแลรักษาพยาบาลทั้งหมด
จูงใจด้วยแผนการตลาด
แม้ว่าในประเทศไทย ผู้ให้บริการเรียกรถโดยสารอย่าง Uber จะถูก Grab ซื้อธุรกิจไปแล้ว แต่ในสหรัฐอเมริกา Uber ยังคงเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการเรียกรถยนต์โดยสารรายใหญ่ในสหรัฐอเมริกา
ทั้งนี้ แอปพลิเคชัน Uber ในสหรัฐอเมริกา เคยมีแคมเปญให้ผู้ใช้งานสามารถเรียกรถสำหรับไปฉีดวัคซีน โดยไม่เสียค่าเดินทาง ก่อนที่จะต่อยอดขยายการให้บริการไปถึงขั้นการจองคิวฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้จากแอปพลิเคชัน Uber เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ประชากรในสหรัฐอเมริกา เข้าไปฉีดวัคซีน นั่นเอง
แนวคิดนี้ Uber ได้ทำความร่วมมือกับ Walgreens ร้านขายยาเชนรายใหญ่ในสหรัฐอเมริกา มีจุดมุ่งหมายให้สังคมอเมริกันกลับสู่สภาวะปกติโดยเร็วที่สุด เป็นการช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสในชุมชนต่างๆ ให้เข้าถึงวัคซีนแบบที่ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ซึ่งบริการนี้ปูพรมให้บริการทั่วสหรัฐอเมริกา
แผนการทำงานที่บริษัทเทคโนโลยีในสหรัฐอเมริกาดำเนินการมาทั้งหมดนี้ ถือเป็นแนวทางที่น่าสนใจ สามารถสรุปเป็นบทเรียนให้กับภาครัฐและภาคเอกชนไทย นำไปประยุกต์ใช้เพื่อร่วมกันฝ่ามหาวิกฤติโควิด-19
Leave a Reply