7ข้อ ควรรู้หากได้ไปเยือนจีน

1. เช็คแฮนด์ด้วยสองมือ
เราคงทราบกันดีอยู่แล้วว่า การทักทายด้วยการจับมือนั้นถือเป็นธรรมเนียมสากลที่มีการปฏิบัติกันทั่วโลก แต่หากคุณต้องเดินทางไปประเทศจีน ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางเพื่อธุรกิจหรือการท่องเที่ยวก็ตาม หากมีโอกาสได้ทำความรู้จักกับใครสักคน การทักทายที่เรียกว่าการเชคแฮนด์อย่างที่เคยชินอาจไม่เพียงพอสำหรับที่นี่ เพราะวิธีทักทายที่ถูกต้องสำหรับธรรมเนียมจีนก็คือ คุณต้องใช้มือทั้งสองข้างกุมไปที่มือของอีกฝ่ายพร้อมกับเขย่าไปด้วยในขณะที่คุณแนะนำตัวเองให้อีกฝ่ายรู้จัก เพียงแค่นี้ก็สามารถสร้างความประทับใจเมื่อแรกพบได้แล้ว

2. ไม่เรียกชื่อต้นหากเพิ่งรู้จัก
แน่นอนว่าคนจีนนั้นมีชื่อและนามสกุลเหมือนกับคนในประเทศอื่นๆ แต่ในประเทศจีนการใช้ชื่อและนามสกุลจะแตกต่างตรงที่พวกเขาจะใช้นามสกุลน้ำหน้าชื่อก่อนเสมอ อย่างเช่นหากมีใครแนะนำให้คุณรู้จักกับหลิวเต๋อหัว นั่นแสดงว่าเขามีชื่อว่าเต๋อหัว และนามสกุลหลิว แต่คุณต้องทักทายเขาในนามของมิสเตอร์หลิวเท่านั้น เพราะการเรียกชื่อต้นสำหรับคนที่ไม่คุ้นเคยในประเทศจีนนั้นถือว่าเสียมารยาทเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากคนจีนจะเรียกชื่อแรกกันเฉพาะภายในสมาชิกของครอบครัว รวมทั้งเพื่อนสนิทเพียงไม่กี่คนเท่านั้น




3. ห้ามดื่มก่อนเจ้าภาพ
สำหรับวัฒนธรรมการกิน ของจีนนั้น แน่นอนว่าสิ่งที่จะขาดไม่ได้ภายในโต๊ะอาหารมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันก็คือสุรา ซึ่งถ้าหากเป็นปัจจุบันก็คงเหมารวมเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ทุกชนิด ซึ่งหากคุณมีโอกาสได้เข้าร่วมงานเลี้ยงในประเทศจีน ไม่ว่าจะเป็นงานเล็กหรืองานใหญ่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ควบคู่ไปกับมื้ออาหารคงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก แต่กระนั้นคุณต้องจำไว้เสมอว่า จะต้องดื่มก็ต่อเมื่อเจ้าภาพหรือผู้ใหญ่เชื้อเชิญเท่านั้น ห้ามยกแก้วหรือจอกขึ้นดื่มเองโดยลำพังเป็นอันขาด รวมทั้งต้องไม่ดื่มครั้งเดียวหมดแก้ว แต่ให้ค่อยๆ จิบแทน ซึ่งเหตุผลจริงๆ ของธรรมเนียมนี้ก็เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เราดื่มมากเกินไปจนเมานั่นเอง

4. แย่งจ่ายหลังกินเสร็จ
คุณอาจรู้สึกตกใจหากเจอเหตุการณ์ความวุ่นวายเสียงดังจากโต๊ะหนึ่งโต๊ะใดภายในร้านอาหารหรือห้องอาหาร ขณะที่คุณอยู่ในประเทศจีน ซึ่งนั่นไม่ใช่เพราะว่าพวกเขาทะเลาะหรือมีเรื่องชกต่อยกันแต่อย่างใด แต่วัฒนธรรมจีนนั้น เมื่อมีการเลี้ยงสรรสรรค์ภายนอกบ้าน หากมีใครเสนอตัวที่จะเป็นเจ้าภาพเลี้ยง คนที่เหลือบนโต๊ะจะไม่เพียงนั่งอยู่เฉยๆ หรือกล่าวคำว่าขอบคุณ แต่พวกเขาจะเข้าแย่งชิงการจ่ายค่าอาหารมื้อนั้น ซึ่งอาจจะถึงขั้นต่อสู้กัน โดยปราศจากอาวุธและความรุนแรง รวมถึงพยายามปัดเงินของคนที่ยื่นให้พนักงานออกไปเพื่อที่จะแย่งจ่ายเอง โดยการต่อสู้นี้เองที่ชาวจีนถือว่าเป็นมารยาทที่ดี มากกว่าการนั่งเป็นหัวหลักหัวตอในโต๊ะอาหาร ซึ่งผู้ที่สามารถเอาชนะ และ “จ่าย” ค่าอาหารมื้อนั้นก็จะได้รับความชื่นชมเป็นพิเศษ

5. ฝึกการใช้ตะเกียบให้ถูกต้อง
หากคุณมีโอกาสถูกรับเชิญไปร่วมรับประทานอาหารกับครอบครัวคนจีน แน่นอนว่าการใช้ตะเกียบคือสิ่งที่คุณจำเป็นต้องเรียนรู้ให้ถูกต้อง ซึ่งนอกเหนือไปจากการใช้ตะเกียบคีบเส้นก๋วยเตี๋ยว ถั่วงอก ลูกชิ้น อย่างที่เราเคยกระทำเป็นประจำ เนื่องจากตะเกียบนั้นถือว่ามีความสำคัญต่อชาวจีนมากกว่าการเป็นแค่อุปกรณ์หยิบจับอาหาร แต่ตะเกียบยังมีความสำคัญต่อขนบธรรมเนียมประเพณีอันเป็นรากฐานทางวัฒนธรรมของจีนมาตั้งแต่อดีตนับพันๆ ปี ดังนั้นพวกเขาจึงให้ความสำคัญต่อการใช้ตะเกียบเป็นอย่างมาก เช่น ห้ามวางตะเกียบสะเปะสะปะไม่เป็นระเบียบ ห้ามใช้ตะเกียบชี้หน้าผู้อื่น ห้ามอม ดูด หรือเลียตะเกียบ ห้ามใช้ตะเกียบเคาะถ้วยชาม ห้ามใช้ตะเกียบวนไปมาบนโต๊ะโดยไม่รู้ว่าจะคีบอะไรดี ห้ามใช้ตะเกียบคุ้ยอาหารในจาน ห้ามถือตะเกียบกลับข้าง ห้ามใช้ตะเกียบข้างเดียวเสียบลงบนอาหารหรือชามข้าว และห้ามทำตะเกียบตกพื้น เป็นต้น

6. ไม่ทำให้คนอื่นขายหน้าในที่สาธารณะ
สิ่งที่แย่ที่สุดที่คุณอาจทำให้คนจีนรู้สึกไม่พอใจเป็นอย่างยิ่งก็คือ การพูดหรือแสดงอาการดูหมิ่นพวกเขาในที่สาธารณะ หรือแสดงอาการโกรธเกรี้ยวด้วยการตะคอกหรือตะโกนใส่หน้า แม้ว่าสาเหตุจะมาจากความผิดพลาดของอีกฝ่ายก็ตาม เพราะนั่นจะทำให้พวกเขารู้สึกเสียหน้า ซึ่งคนจีนจะรับไม่ได้และคิดว่าคุณกำลังเหยียบย่ำศักดิ์ศรีของพวกเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณเป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติด้วยแล้ว อย่างไรก็ตาม สถานการณ์จะเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือทันที หากเปลี่ยนจากเหตุการณ์ความไม่พอใจเป็นการแสดงความขอบคุณ หรือการแสดงความชื่นชมพวกเขาต่อหน้าสาธารณชน เพราะสิ่งที่คุณจะได้รับกลับมา นั่นก็คือความเป็นมิตรและการต้อนรับที่อบอุ่นนั่นเอง

7. มอบของขวัญให้กันเสมอ
การมอบของขวัญให้แก่กันสำหรับวัฒนธรรมจีนนั้นไม่เพียงแค่เฉพาะในโอกาสพิเศษเท่านั้น แต่ทุกครั้งหากต้องไปเยี่ยมเยือน หรือมีการนัดหมายเพื่อพบเจอระหว่างเพื่อน ครอบครัว ผู้ร่วมธุรกิจ ฯลฯ การเตรียมของขวัญมามอบให้แก่กันโดยที่ไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าถือเป็นมารยาทที่ดี ทั้งยังเป็นการแสดงถึงมิตรภาพและความปรารถนาดีที่ต่างฝ่ายต่างมอบให้แก่กัน แม้ว่าของชิ้นนั้นจะเป็นเพียงของเล็กๆ น้อยๆ ก็ตาม และที่สำคัญคือ ผู้ที่ให้จะต้องไม่คุยโวถึงที่มาหรือราคาของของขวัญอย่างเด็ดขาด

Leave a Reply