ประเพณีการแต่งงานแบบจีน

ประเพณีแต่งงานแบบจีน
สิ่งสำคัญของการแต่งงานแบบจีนไม่ใช่เรื่องของการเตรียมสิ่งของให้พร้อม แต่อยู่ที่การให้เกียรติผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่าย มากกว่าควรถามญาติผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่ายว่าอยากเห็นอะไรในธรรมเนียมจีนสิ่งไหนที่อยากให้ทำเพื่อความสบายใจบ้าง ถ้าฝ่ายหญิงมีอาม่า มักมีธรรมเนียมค่าน้ำนมข้าวป้อนหรืออั่งเปาน้ำนม เพราะเคยช่วยเลี้ยงหลานคนนี้มา หรือท่านอยากเห็นเอี๊ยมแดงก็จัดให้ท่าน สิ่งที่อาม่าเคยเห็นและฝังใจว่าดี ถ้าอีกฝ่ายไม่ทำตามนั้นอาม่าอาจเกิดความรู้สึกอคติกับอีกฝ่ายก็ได้ เพราะการที่คนสองคนแต่งงานกันไม่ได้แต่งแค่สองคน แต่เป็นการรวมสองครอบครัวเข้าด้วยกันยิ่งถ้าวิถีชีวิตของจีนถูกสอนให้ผูกพันและกตัญญูกับผู้ใหญ่อะไรที่ทำแล้วท่านไม่ชอบก็เลี่ยงไปดีกว่า

ฤกษ์งามยามดี
ไม่ว่าจีนหรือไทย เมื่อจะเริ่มต้นเรื่องมงคลสักที ฤกษ์ยามมงคลเป็นเรื่องที่ขาดไม่ได้ เพราะลำดับขั้นของคนจีนเริ่มจากการสู่ขอเหมือนคนไทย แล้วให้ผู้ใหญ่ฝ่ายชายเอาดวงของทั้งคู่รวมถึงดวงของพ่อแม่ทั้งสองฝ่ายไปให้ซินแสดูเมื่อได้ฤกษ์งามยามดีแล้วฝ่ายชายจะทำการส่งข่าวให้ฝ่ายหญิงทราบว่าต้งตัดผม ตัดชุดแต่งงาน วันไหน เวลาอะไร เพราะดวงที่ซินแสให้มานั้นจะระบุละเอียดตั้งแต่ฤกษ์แต่งงาน ฤกษ์แต่งหน้าทำผม ฤกษ์ตัดชุด ฤกษ์เข้าหอ และบางครั้งมีฤกษ์คลอดลูกมาให้เสร็จสรรพ

ซิงนึ้ง-ซิงเนี้ย
ก่อนจะเข้าเรื่องพิธีแต่งงาน เรามาว่ากันถึงสิ่งของที่ซิงนึ้ง (เจ้าบ่าว) และ ซิง เนี้ย (เจ้าสาว) ต้องจัด เตรียมกันก่อนดีกว่า ของออกเรือนของเจ้าสาวเพื่อไม่ให้เป็นที่ครหาว่าเจ้าสาว “มาแต่ตัว” ธรรมเนียมโบราณจึงให้เจ้าสาวต้องตระเตรียมข้าวของติดไม้ติดมือไปบ้าง ในวันออกเรือนของเจ้าสาวจะไปพร้อมกระเป๋าเสื้อผ้าอัดแน่นด้วยชุดสวยใหม่ๆ ไว้ใส่รับชีวิตใหม่กับว่าที่เจ้าบ่าวของเธอ แถมด้วยหีบใส่เครื่องเพชรเครื่องทองติดแผ่นหัวใจสีแดงที่ได้รับเป็นของขวัญจากพ่อแม่ และข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวตั้งแต่กะละมัง ถังน้ำ ไปจนที่นอนหมอนมุ้งเลยทีเดียวนอกจากนี้เจ้าสาวยังต้องมีเอี๊ยมแต่งงาน ทำจากผ้าแพรสีแดงกลายสวยงาม ใส่ห่อเมล็ดพืช 5 ชนิด เสียบปิ่นทอง พร้อมต้นชุงเฉ้าหรือต้นเมียหลวง 2 ต้นการจัดเอี๊ยมแบบนี้เพื่อเป็นเคล็ดให้มีลูกหลานดีสืบสกุล ถ้าเจ้าสาวมีฐานะหน่อย สายเอี๊ยมจะใช้สร้อยคอทองคำหนัก 4 บาท เพราะเลข 4 ถือเป็นเลขมงคล

เครื่องขันหมากของเจ้าบ่าว 
นอกจากสินสอดทองหมั้นที่รู้กันดีอยู่แล้ว ซึงนึ้งยังต้องเตรียมเครื่องขันหมาก ซึ่งจะเป็นอะไรขึ้นอยู่กับฝ่ายเจ้าสาวเรียกมา โดยทั่วไปนิยมส้มเช้งผลเขียวๆ ติดตัวอักษรจีน“ซังฮี่” แปลว่า คู่ยินดีไว้ทุกผล จัดเป็นคู่จะ 44,84 หรือร้อยกว่าผลก็ว่ากันไป บางบ้านอาจเรียกเป็นชุดหมูสด เช่น ขาหมู ตับหมู กระเพาะหมูมากันสดๆ เลือดแดงๆ ถ้ากลัวจะดูโหดไปฝ่ายเจ้าบ่าวอาจใช้ซองเขียนว่า ใช้ซื้อขาหมู ซื้อกระเพาะหมูแทนก็ได้ ของสำคัญที่ขาดไม่ได้เลยคือ ขนมขันหมาก หรือขนมแต่ง จะแจกให้ญาติมิตรเป็นการบอกข่าวดี ขนมมีให้เลือกหลายอย่าง เช่น ขนมเหนียวเคลือบงา ขนมเปี๊ยะ ถั่วตัด ข้าวพองทุบ ฯลฯ จะจัดสี่หรือห้าอย่างก็ได้ตามชอบ ถ้าไม่ชอบอาจประยุกต์ใช้คุกกี้หรือของโปรดอย่างอื่นที่มีแพ็คเกจเป็นสีแดงสวยงามแทนก็ได้ อย่างสุดท้ายคือ ซองสี่ซองที่พ่อแม่เจ้าบ่าวต้องให้กับพ่อแม่เจ้าสาวเป็นค่าตัวลูกสาว ซองแรกเป็นค่าน้ำนม ซองที่สองเป็นค่าเสื้อผ้า ซองที่สามเป็นค่าทำผม แต่งหน้า ซองที่สี่เป็นทุนตั้งตัวทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับความปรานีของพ่อแม่เจ้าสาว ว่าจะให้คู่บ่าวสาวไว้ใช้หรือไม่

ขันหมาก
เมื่อถึงวันหมั้น เจ้าบ่าวจะยกขันหมากมาที่บ้านเจ้าสาว และมอบสินสอดทองหมั้น เครื่องขันหมากที่เตรียมมาให้ ฝ่ายเจ้าสาวต้องเก็บขนมแต่งไว้ครึ่งหนึ่ง และส่งอีกครึ่งหนึ่งคืนให้เขา พร้อมส้มเช้งติดตัวซังฮี่จัดเป็นจำนวนคู่กับเอี๊ยมแดง เสียบปิ่นทอง ซึ่งในเช้าวันส่งตัว ฝ่ายเจ้าบ่าวจะคืนปิ่นทองมาให้เจ้าสาว ใช้ติดผมก่อนออกจากบ้าน นอกจากส้มเช้ง เธออาจให้กล้วยทั้งเครือไปด้วย เพื่อเป็นเคล็ดว่าจะได้มีลูกหลานว่านเครือสืบสกุลเสร็จสิ้นกระบวนการแลกเครื่องขันหมาก ก็รอฤกษ์งามยามดีเพื่อสวมแหวนหมั้นต่อหน้าผู้หลักผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่ายจากนั้นผู้ใหญ่จะให้ศีลให้พร แล้วเชิญแขกกินเลี้ยงเป็นอันจบไปหนึ่งพิธี

วันออกเรือน
ก่อนถึงฤกษ์ส่งตัว เจ้าสาวต้องแต่งหน้า ทำผมจนสวยสุดชีวิต แม่เจ้าสาวจะประดับปิ่นทองและใบทับทิมให้ที่ผม แต่งตัวเสร็จจึงไปไหว้ฟ้าดินไหว้เจ้าที่และบรรพบุรุษก่อนไปร่วมรับประทานอาหารมื้อสุดท้ายกับครอบครัว ซึ่งมื้อนี้คุณพ่อจะเป็นคนคีบอาหารให้คุณลูกสาว พร้อมกล่าวคำมงคลของอาหารแต่ละชนิด

อาหารมงคล
– ปลา ภาษาจีนเรียกว่า “ฮื้อ” หรือ “ชุ้ง” แปลได้อีกอย่างว่า เหลือ สื่อถึงคำมงคลว่า “อู่ฮู้-อู่ชุ้ง” คือให้มีเหลือกินเหลือใช้
– ผักกู้ช่าย (หรือที่เรียกติดปากกันว่า กุยช่าย) สื่อเป็นนัยว่าให้อยู่กันนานๆ เพราะ“กู้” แปลว่า นาน
– ผักเกาฮะไฉ่ คำว่า “เกาฮะ” สื่อถึง “เซียนฮัวฮะ” ซึ่งเป็นเซียนคู่ที่รักกันมาก กินผักเกาฮะไฉ่ จะได้รักกันเหมือนเซียนคู่นั้น
– ตับหมู ไส้หมู กระเพาะหมู ภาษาจีนเรียกว่า “กัว” “ตึ๊ง” และ “โต้ว” เมื่อเรียกรวมกันจะเป็นภาษามงคล คือ “อั่วตึ๊งอั่วต็ว” แปลว่า เปลี่ยนให้ดียิ่งขึ้น
– หมู เป็ด ไก่ เป็นของที่นิยมไหว้เจ้ากันอยู่แล้ว จึงถือเป็นอาหารมงคลเช่นกัน

เมื่อถึงฤกษ์ เจ้าบ่าวจะมารับตัวเจ้าสาวที่บ้าน โดยมีญาติๆ คอยต้อนรับด้วยน้ำชาและขนมอี๊(ขนมสาคูเม็ดใหญ่สีชมพู) ถึงตอนนี้เธอไม่ต้องทำอะไรอื่น นอกจากนั่งสวยถือพัดแดงรอเจ้าบ่าวอยู่ในห้อง จนกว่าเขาและเถ้าแก่จะฝ่าด่านประตูเงินประตูทองด้วยอั่งเปาปึกใหญ่เข้ามารับตัว และมอบช่อดอกไม้ให้กับเจ้าสาวแสนสวยในที่สุด

ให้รักนำทาง
และเมื่อเจ้าบ่าวมารับตัวเจ้าสาวแล้ว ทั้งคู่ก็จะนั่งกินขนมอี๊สีชมพูด้วยกัน ญาติๆ อาจยุให้เจ้าสาวป้อนขนม หรือให้เจ้าบ่าวหอมโชว์ เธอก็ช่วยทำเขินพอเป็นพิธี จะได้ไม่เสียอรรถรสผู้ชม กินขนมเสร็จแล้วจึงไปกราบลาพ่อแม่เพื่อไปขึ้นรถแต่งงานในขบวนรถแต่งงาน จะมีรถขนกระเป๋าเสื้อผ้าข้าวของออกเรือนของเจ้าสาวรวมไปถึงของขวัญสำหรับแจกให้กับญาติเจ้าบ่าว เช่น สบู่ ผ้าเช็ดตัว ผ้าตัดเสื้อ ฯลฯ และที่สำคัญต้องมีญาติหนุ่ม จะเป็นพี่ชาย น้องชายหรือหลานชายก็ได้ ให้มาถือตะเกียงจุดสว่างนำขบวนเป็นเคล็ดให้คู่บ่าวสาวมีลูกชายสืบสกุล โดยอาจนั่งในรถที่ขับนำหรือนั่งคันเดียวกับคู่บ่าวสาว แต่นั่งข้างหน้าก็ได้ เมื่อถึงบ้านเจ้าบ่าวญาติหนุ่มจะนำตะเกียงไปวางไว้ในห้องนอนและจุดไว้ตลอดคืน จะให้ดีควรวางทิ้งไว้อย่างนั้น 3 วัน ถ้าเกรงว่าเรือนหออาจไฟไหม้เสียก่อน อาจประยุกต์ใช้ตะเกียงแบบเสียบปลั๊กก็ได้ ในการนี้เจ้าบ่าวให้อั่งเปาซองใหญ่กับญาติหนุ่ม เพราะถือว่าเป็นพิธีสำคัญ จากนั้นคู่บ่าวสาวจึงไหว้ฟ้าดิน ไหว้เจ้าที่ ไหว้บรรพบุรุษ เพื่อเป็นการบอกกล่าวว่าทั้งคู่แต่งงานกันแล้ว






ยกน้ำชาคารวะผู้ใหญ่
ครั้นพอรุ่งเช้า เมื่อแขกเหรื่อเครือญาติทยอยมาที่บ้านกันพร้อมหน้า คู่สามีภรรยาใหม่ต้องทำการ “ขั่งเต๊” หรือยกน้ำชาให้กับพ่อแม่และญาติผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าบ่าวโดยทั้งสองต้องคุกเข่าลงพร้อมกับรินน้ำชาใส่ถ้วยวางบนถาดส่งให้ ผู้ใหญ่จะดื่มแล้วให้ศีลให้พรและเงินทองเพื่อเป็นทุนตั้งตัว เสร็จพิธียกน้ำชา คู่บ่าวสาวจึงกินขนมอี๊สีชมพูอีกครั้ง

คู่รักใหม่กลับไปเยี่ยมบ้าน
หลังวันแต่ง 3 วัน 7 วัน หรือ 15 วัน แล้วแต่ฤกษ์ ก็ถึงคราวญาติหนุ่มของฝ่ายเจ้าสาวจะมารับเธอกลับไปเยี่ยมบ้าน หรือที่เรียกว่า “ตึ่งฉู่” เจ้าสาวต้องเตรียมส้ม 12 ผลใส่ถาดติดไม้ติดมือกลับไปด้วย เมื่อไปถึงก็ต้องทำพิธียกน้ำชาให้กับพ่อแม่และญาติผู้ใหญ่ฝ่ายหญิงเช่นกัน (และรับทรัพย์ไปอีกตามระเบียบ) จากนั้นจึงมีงานเลี้ยงต้อนรับลูกเขยกันอย่างอิ่มหมีพีมัน

ที่มา: https://goo.gl/wYtAms

Leave a Reply